วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

กิจกรรมชุมนุมโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา

ความหมาย
กิจกรรมชุมนุม หมายถึง การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อการค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม

หลักการ
การจัดกิจกรรมชุมนุม มีหลักการที่สำคัญคือ
1. เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา
2. เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และช่วยกันแก้ปัญหา
3. เป็นกิจกรรมที่พัฒนาผู้เรียนตามสาระที่กำหนดนอกเหนือจากการเรียนการสอน
4. เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน
5. เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพของสถานศึกษา หรือท้องถิ่น

วัตถุประสงค์
การจัดกิจกรรมชุมนุม มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1. พัฒนาความรู้ ความสามารถ ด้านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้เกิดทักษะประสบการณ์ ทั้งวิชาการและวิชาชีพตามศักยภาพ
2. มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
3. มีสุขภาพและบุคลิกภาพทางด้านร่างกายและจิตใจที่ดี
4. ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
5. มีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในระบอบประชาธิปไตย

พฤติกรรมบ่งชี้ และเป้าหมาย
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว สามารถกำหนดพฤติกรรมบ่งชี้หรือตัวชี้วัดและเป้าหมายการจัดกิจกรรมได้ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ : พัฒนาความรู้ ความสามารถ ด้านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้เกิดทักษะ ทั้งประสบการณ์และวิชาชีพตามศักยภาพ
พฤติกรรมบ่งชี้/ตัวชี้วัด :
1.1 มีการจัดทำโครงงาน/ ผลงาน/ชิ้นงาน
1.2 เกิดทักษะการคิด การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา
1.3 มีทักษะการวางแผนและการจัดการ
1.4 รู้เข้าใจความสนใจความถนัดและศักยภาพของตน
1.5 ใช้ภาษาในการสื่อสารได้ถูกต้อง
1.6 มีจินตนาการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เป้าหมายการจัดกิจกรรม : ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้และทักษะจนเกิดเป็นโครงงาน ผลงาน ชิ้นงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

วัตถุประสงค์ : มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
พฤติกรรมบ่งชี้ / ตัวชี้วัด :
2.1 มีกิริยามารยาทที่ดี
2.2 มีระเบียบวินัย
2.3 มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
2.4 มีความซื่อสัตย์สุจริต
2.5 มีสัมมาคารวะอ่อนน้อมถ่อมตน
2.6 มีความสามัคคี
2.7 มีน้ำใจต่อครู เพื่อนและผู้อื่น
2.8 รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
2.9 ตรงต่อเวลา
2.10 อนุรักษ์ พัฒนาและรักษาสมบัติของโรงเรียน
เป้าหมายการจัดกิจกรรม : ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยม ที่พึงประสงค์เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้

วัตถุประสงค์ : มีสุขภาพและบุคลิกภาพด้านร่างกายและจิตใจที่ดี
พฤติกรรมบ่งชี้ /ตัวชี้วัด :
3.1 รู้จักการรักษาสุขภาพส่วนตัว
3.2 ร่าเริงแจ่มใส มีความมั่นคงทางอารมณ์
3.3 อดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุ
3.4 มีสมาธิต่อการทำงาน
3.5 มีสุนทรียภาพทางอารมณ์
เป้าหมายการจัดกิจกรรม : ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

วัตถุประสงค์ : ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
พฤติกรรมบ่งชี้ / ตัวชี้วัด :
4.1 บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
4.2 ใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์
เป้าหมายการจัดกิจกรรม : ผู้เรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม

วัตถุประสงค์ : มีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในระบอบประชาธิปไตย
พฤติกรรมบ่งชี้ / ตัวชี้วัด :
5.1 มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
5.2 สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
5.3 เคารพในกฎ กติกาของกลุ่มและสังคม
5.4 รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น
เป้าหมายการจัดกิจกรรม : ผู้เรียนสามารทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การบริหารงาน
การบริหารงานการจัดกิจกรรมชุมนุม ให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
1. ประเภทของกิจกรรมชุมนุม การจัดการกิจกรรมชุมนุมของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา ได้แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
ก. กิจกรรมชุมนุมเชิงวิชาการ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระ เป็นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ด้านวิชาการในรายวิชาต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียน และเสริมบทเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น เช่น
• ชุมนุมคอมพิวเตอร์
• ชุมนุมห้องสมุด
ข. กิจกรรมชุมนุมเพื่อพัฒนาสังคม และจิตใจ เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมนิสัยการทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง ปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการทำประโยชน์เพื่อสังคม เห็นแนวทางที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม และสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่างชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น เช่น
• ชุมนุมพระพุทธศาสนา
• ชุมนุมศิลปกรรม
ค. กิจกรรมชุมนุมเพื่อการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประสบการณ์ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น และเข้าใจกระบวนการประกอบอาชีพ ในระหว่างเรียนเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ตัวอย่างชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น เช่น
• ชุมนุมอาหารและเครื่องดื่ม
• ชุมนุมพิราบน้อย
• ชุมนุมสหกรณ์
• ชุมนุมนักพูดในที่ชุมชน

ง. กิจกรรมชุมนุมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงการรักษา ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นักเรียนรู้จัก แลกเปลี่ยน เผยแพร่ และเสริมสร้างความรู้ความคิด ประสบการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการช่วยเหลือหรือในการให้ความร่วมมือในกิจกรรมขององค์การภายใน และภายนอก โรงเรียนทางด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น เช่น
• ชุมนุมดำน้ำและการอนุรักษ์
จ. กิจกรรมชุมนุมเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความเป็นไทยอันมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตระหนักถึงความสำคัญและความเป็นมาของชาติไทย และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ตัวอย่างชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น เช่น
• ชุมนุมดนตรีไทย
• ชุมนุมนาฎศิลป์
• ชุมนุมดนตรีไทยลูกทุ่ง
ฉ. กิจกรรมชุมนุมเพื่อพัฒนาทักษะด้านกีฬา ตัวอย่างเช่น
• ชุมนุมฟุตบอลและฟุตซอลท์
• ชุมนุมเปตอง

• ชุมนุมจักรยานเสือภูเขา
• ชุมนุมกรีฑา
• ชุมนุมบาสเกตบอล
• ชุมนุมตะกร้อ
• ชุมนุมว่ายน้ำ
• ชุมนุมเครื่องบินเล็ก
• ชุมนุมศิลปะป้องกันตัว

2. หลักเกณฑ์การจัดตั้งชุมนุม โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา ได้จัดกิจกรรมชุมนุมในทุกช่วงชั้น โดยจัดอย่างหลากหลาย เพื่อสนองความสนใจ ความถนัด เหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของ หรือหากนักเรียนมีความสนใจตรงกันรวมกลุ่มกัน สามารถเสนอจัดตั้งชุมนุมตามระเบียบการจัดตั้งชุมนุมของโรงเรียน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1 ครู หรือนักเรียน ที่มีความประสงค์จัดตั้งชุมนุม เขียนโครงการเสนอต่อหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อพิจารณา
2.2 กิจกรรมชุมนุมที่ขออนุญาตจัดตั้งนั้น ต้องมีครูที่ปรึกษาชุมนุมอย่างน้อย 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน
2.3 ขนาดของชุมนุม ประกอบด้วยสมาชิกในอัตราส่วนนักเรียนต่อครูที่ปรึกษา 25 : 1 (ยืดหยุ่นได้ที่อัตรา 20 – 30 : 1)

3. หน้าที่ของครูที่ปรึกษาชุมนุม ครูทุกคนต้องเป็นครูที่ปรึกษาชุมนุมตามคำขอของผู้เรียนหรือตามที่โรงเรียนมอบหมาย ซึ่งจะต้องมีบทบาทดังต่อไปนี้
3.1 ปฐมนิเทศ ปฐมนิเทศให้นักเรียนเข้าใจเป้าหมายและวิธีการดำเนินการจัดกิจกรรมชุมนุม
3.2 เลือกตั้งคณะกรรมการ จัดให้นักเรียนเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมชุมนุม
3.3 ส่งเสริมการจัดทำแผนงาน/โครงการ ส่งเสริมให้นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนงาน/โครงการและปฏิทินการปฏิบัติงานอย่างอิสระ
3.4 ประสานงาน ประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านทรัพยากรตามความเหมาะสม
3.5 ให้คำปรึกษา ให้คำปรึกษา ดูแล ติดตามการจัดกิจกรรมของนักเรียนให้เป็นไปตามแผนงานด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
3.6 ประเมินผล ประเมินผลการเข้าร่วมและการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน
3.7 สรุปและรายงานผล สรุปและรายงานผลการจัดกิจกรรมต่อหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การประเมินผล
การประเมินผลการจัดกิจกรรมชุมนุม เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง สำหรับการผ่านช่วงชั้นหรือจบหลักสูตร นักเรียนต้องเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมชุมนุม ตลอดจนผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดตามแนวประเมินดังนี้
1. ประเมินการร่วมกิจกรรมชุมนุมตามวัตถุประสงค์ของชุมนุม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตามสภาพจริงให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้อง ครบถ้วน
2. ครูที่ปรึกษากิจกรรมชุมนุม และนักเรียนจะมีบทบาทในการประเมินดังนี้
2.1 ครูที่ปรึกษากิจกรรมชุมนุม
(1) ต้องดูแลและพัฒนานักเรียนให้เกิดคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม
(2) ต้องรายงานเวลา และพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียน
(3) ต้องศึกษาติดตาม และพัฒนานักเรียนในที่กรณีนักเรียนไม่เข้าร่วมกิจกรรม
2.2 นักเรียน
(1) ปฏิบัติกิจกรรมให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์
(2) มีหลักฐานแสดงการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ80 ของเวลาเรียนทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงผลการปฏิบัติกิจกรรม และพัฒนาการด้านต่าง ๆ
(3) ถ้าไม่เกิดคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ ต้องปฏิบัติกิจกรรมเพิ่มเติมตามที่ครูที่ปรึกษากิจกรรมมอบหมาย
3. เกณฑ์การผ่านกิจกรรมชุมนุม
3.1 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด
3.2 นักเรียนผ่านจุดประสงค์ที่สำคัญของแต่ละกิจกรรม
3.3 นักเรียนต้องผ่านเกณฑ์ประเมินตามข้อ 3.1 และ 3.2 จึงได้ผลการเรียน “ผ” ในกิจกรรมชุมนุม

ไม่มีความคิดเห็น: