ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เป็นประจำทุกปี (ยกเว้น พ.ศ. 2548)
ในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจ มาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส. 9 ปรุ ส.ค.ส. พระราชทาน ที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อ ๆ มา หนังสือพิมพ์รายวัน ได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง
นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น ก.ส. 9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ ดังนี้
ววชชนน ด.ด. ปปปป และตั้งแต่ ส.ค.ส. พระราชทานปี 2549 เป็น ววชชนน ด.ด. ปป
เมื่อ ว=วันที่ ช=เวลาเป็นชั่วโมง น=เวลาเป็นนาที ด=เดือน และ ป=ปี
อนึ่ง ส.ค.ส. พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher"(ใน ส.ค.ส. ปี 2549, 2551, 2552, 2553) และ "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2550)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดกระทู้ขึ้นในเว็บบอร์ด โดยมีเนื้อหาเชิงตั้งข้อสังเกตว่า ส.ค.ส. ประจำปี พ.ศ. 2553 มิได้ใช้รูปแบบเฉพาะของการระบุวันเดือนปีและเวลา ที่ตามหลังข้อความ ก.ส. 9 ปรุง ดังที่ทรงใช้มาทุกปี ซึ่งรูปแบบที่เปลี่ยนใหม่ เริ่มจากเวลาเป็นชั่วโมง เวลาเป็นนาที แล้วจึงเป็น วัน เดือน และปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ตัวเลขที่ประทับอยู่มุมขวาตอนล่างของพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็น ส.ค.ส.ในปีดังกล่าว ซึ่งเป็นเวลาฉายภาพคือ 15 นาฬิกา 25 นาทีนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ตามหลังข้อความ ก.ส. 9 ปรุง อันเป็นเวลาที่นำภาพมาประดิษฐ์เป็น ส.ค.ส. ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในเชิงเหตุผล ที่เวลาทั้งสองส่วนดังกล่าว จะเป็นเวลาเดียวกันพอดี