วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ตำนาน ขนมหม้อแกง


เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ก.ค.2551 ผมได้เดินทางไป จ.เพชรบุรี ระหว่างที่รถติดไฟแดงอยู่บน ถ.เพชรเกษม นั้น ก็มีคนเดินมาแจกใบปลิวโฆษณาขนมหม้อแกงเมืองเพชร “แม่กิมลั้ง” ผมก็รับมา เมื่ออ่านข้อความบางส่วนในใบปลิวแล้ว จึงได้รู้ว่า ขนมหม้อแกง ที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรบุรี นั้น ได้รับการขนานนามในสมัยก่อนว่า “ขนมกุมภมาศ” ผมจึงได้คัดลอกข้อความจากใบปลิวนั้น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อประดับความรู้ ดังนี้

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาณาจักรสยามประเทศอยู่ในความสงบสุข ไม่มีศึกสงคราม มีคณะฑูต และบาทหลวงจากประเทศต่างๆ เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีจนถือว่าเป็นยุคทองแห่งการฑูตไทย และยุคทองแห่งวรรณคดี มีข้าราชการอยู่คนหนึ่งซึ่งพระเจ้ากรุงสยามได้ยกย่องตั้งให้เป็นพระซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นที่ 2 ของเมืองนี้ ขุนนางผู้นี้ชื่อ “คอนสแตนตินฟอลคอล” ซึ่งเป็นคนที่ฉลาด มีไหวพริบตรึกตรองการลึกซึ้ง ทำการค้าขายมากกว่าพ่อค้าทั้งปวง คอนสแตนตินฟอลคอล ได้รับตำแหน่งแต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” และได้แต่งงานกับ คุณท้าวทองกีบม้า (เชื้อชาติญี่ปุ่น สัญชาติโปรตุเกส) ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ประเทศสยามมีการเปลี่ยนแปลง การปกครองขุนนางชาวต่างชาติ รวมถึง คอนแตนตินฟอลคอล ถูกประหารชีวิต

คุณท้าวทองกีบม้า ถูกนำตัวไปขังเกือบ 2 ปี จึงได้ถูกปลดปล่อย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำขนมหวานส่งเข้าไปในวังตามอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงในการทำอาหารคาวหวานได้อย่างยอดเยี่ยม

จุดเปลี่ยนโฉมหน้าของขนมไทยครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ คุณท้าวทองกีบม้า เริ่มทำขนมหวาน คือ ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมฝอยทอง ขนมโปร่ง ขนมพล ขนมผิง ขนมไข่เต่า ขนมท้องม้วน ขนมสัมปันนี และขนมหม้อแกง ซึ่งนำไข่มาเป็นส่วนประกอบหลัก และสอนให้ชาวสยามทำอาหารต่างๆ จนเป็นความรู้ติดตัว ด้วยมีรสชาติของไข่และน้ำตาล เป็นส่วนประกอบทำให้ขนมต่างๆ โดยเฉพาะขนมหม้อแกง ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากเจ้านายชั้นสูงในรั้วในวัง และได้รับการขนานนามขนมหม้อแกงว่า “ขนมกุมภมาศ”

เมื่อลูกมือในบ้านคุณท้าวทองกีบม้าแต่งงาน ก็นำความรู้ที่ได้รับไปทำและเผยแพร่ต่อไปอีก ทำให้ตำรับการทำขนมคาวหวานที่เป็นของสูงในพระราชวังได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชน และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2529 จ.เพชรบุรี มีการบูรณะพระนครคิรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านในละแวกนั้นได้ทำขนมหม้อแกงออกจำหน่าย ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี และรู้จักกันแพร่หลายมาตราบชั่วทุกวันนี้

ที่มา : ใบปลิวโฆษณาขนมหม้อแกงเมืองเพชรแม่กิมลั้ง (12 ก.ค.2551) อ้างอิงจาก น.ส.พ.เพชรนิว ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 (อ้างอิงต่อจาก หนังสือประชุมพงศาวดารที่ 40 ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสำเนาจดหมายมองซิเออร์เคลานด์ ไปถึง มองซิเออร์ บารอง ผู้อำนวยการใหญ่ในประเทศสยาม ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1628(พ.ศ.2225))